การทำ KYT ปลูกฝังจิตสำนึกด้านความปลอดภัยในการทำงานให้กับพนักงาน
การสร้างจิตสำนึกความปลอดภัย ด้วย KYT
KYT คืออะไร
K = KIKEN (คิเค็น) แปลว่า อันตราย
Y = YOSHI (โยจิ) แปลว่า คาดการณ์
T = TRAINING (เทรนนิ่ง) แปลว่า การฝึกฝน หรือ ฝึกอบรม
เมื่อรวมกันแล้วก็หมายถึง“การฝึกอบรมการคาดการณ์อันตรายล่วงหน้า”
KYT เป็นวิธีการของญี่ปุ่น ที่ใช้ในการฝึกฝนพนักงานให้มีความสามารถพิเศษในการมองอันตรายล่วงหน้าได้ จึงต้องฝึกฝนและปลูกฝังจิตสำนึกให้กับพนักงานทุกวัน และเป็นการเตือนสติก่อนการปฏิบัติงาน เพื่อขจัด “ความผิดพลาดที่เกิดจากคน(Human Error)”
ซึ่งสาเหตุของการเกิดอุบัติเหตุส่วนใหญ่ มาจากคนมากถึง 88% หากเราสามารถขจัดความผิดพลาดที่เกิดจากคนได้ อุบัติเหตุก็จะลดลงไปด้วย
วัตถุประสงค์ทำ KYT เพื่ออะไร
- สร้างจิตสำนึกด้านความปลอดภัย ในการทำงานให้กับผู้ปฏิบัติงาน
- สร้างนิสัยการเตือนตนเอง ก่อนลงมือปฏิบัติงาน
- ให้ผู้ปฏิบัติงานค้นหาอันตรายต่างๆ และหาวิธีควบคุมป้องกัน
- ลดอันตรายหรืออุบัติเหตุด้วยวิธีการที่ผู้ปฏิบัติงานร่วมกันคิดค้น
หัวใจของ KYT ที่จะทำให้อุบัติเหตุเป็นศูนย์ มี 3 ประการ
- เกิดทุกครั้งที่จะทำงานใดๆ ว่ามีอันตรายอะไรแอบแฝงอยู่ แล้วหาทางป้องกัน
- ให้คำมั่นสัญญาหรือปฏิญาณตนต่อทีมงานและตนเองว่า “อุบัติเหตุต้องเป็นศูนย์” ก่อนลงมือทำงานในแต่ละวันหรือก่อนลงมือทำงานใดๆ
- ใช้วิธีการเตือนตนเองก่อนลงมือทำงาน โดยการตรวจดูความเรียบร้อยและความพร้อมของงาน และชี้นิ้วไปที่งานพร้อมกับตะเบ็งเสียงว่า “ทุกอย่างพร้อม ปลอดภัย โอเค”
การนำ KYT ไปใช้
1. การฝึกจากรูปภาพหรือเหตุการณ์สมมติ โดยให้พนักงานรวมกันเป็นกลุ่ม และพิจารณาจากรูปภาพของสถานที่ทำงานแห่งหนึ่ง โดยจะมีหนึ่งคนเป็นผู้นำในการมองหาจุดอันตราย จากนั้นจะชี้นิ้วไปที่ตำแหน่งที่ไม่ปลอดภัยในรูปภาพ แล้วเปล่งเสียงออกมา
จากรูปภาพข้างต้น เราจจะเห็นสถานการณ์ที่อาจก่อให้เกิดอันตรายได้ เช่น
- บันไดล้ม
- มีบุคคลที่สามเดินมาชน เนื่องจากปฏิบัติงานบริเวณมุมทางเดิน
หากเราเริ่มต้นฝึกทำ KY เราอาจจะเลือกมา 1 สถานการณ์ แล้วฝึกทำ KY เช่น
- “จับบันได ปลอดภัย โอเค”
- “กั้นพื้นที่ ปลอดภัย โอเค”
หากเกิดความชำนาญแล้ว ก็สามารถรวมมาตรการป้องกันเข้าด้วยกัน แล้วนำมารวมเป็นคำพูดเข้าด้วยกัน เช่น “จับบันไดกั้นพื้นที่ ปลอดภัย โอเค”
โดยการทำ KY ผู้นำจะชี้นิ้วไปที่จุดอันตรายนั้น พร้อมกับเปล่งเสียงออกมาว่า “จับบันได กั้นพื้นที่ ปลอดภัย โอเค” หลังจากนั้นสมาชิกในกลุ่มจึงพูดตาม 3 ครั้งด้วยน้ำเสียงที่เข้มแข็ง พร้อมกับชี้นิ้วไปที่จุดอันตรายดังกล่าว เพื่อเป็นการให้คำมั่นสัญญาว่า จะปฏิบัติงานด้วยความปลอดภัย การฝึกปฏิบัติเช่นนี้ก่อนเริ่มงาน หรือก่อนเข้ากะทำงานเป็นประจำทุกวัน จะทำให้พนักงานเกิดจิตสำนึกต่อความปลอดภัยโดยอัตโนมัติ ถ้าวิเคราะห์ตามหลักการพัฒนาสมอง เรียกว่า “การกระตุ้นให้เกิดการโปรแกรมให้สมองรับรู้และตื่นตัวอยู่เสมอ”
2. การฝึกฝนในสถานที่จริง โดยวิธีการนี้ไม่จำเป็นต้องทำทุกวัน ส่วนใหญ่ทำเป็นรอบเวลาหรือครั้งคราวตามที่กำหนดไว้ในแผนงาน แต่ก็อาจจะมีบางแห่งที่ปฏิบัติกันเป็นประจำทุกวัน แทนการฝึกฝนจากรูปภาพ เพื่อเน้นย้ำและเตือนตนเองทุกครั้งก่อนลงมือปฏิบัติงาน เพื่อให้แน่ใจว่าทุกสิ่งทุกอย่างอยู่ในสภาพที่พร้อมและปลอดภัย โดยการชี้นิ้วไปที่วัสดุ อุปกรณ์ เครื่องจักร หรือสถานที่ทำงานใดๆ พร้อมกับกล่าวว่า “ทุกอย่างพร้อม ปลอดภัย โอเค” เรียกการทำเช่นนี้ว่า “มือชี้ ปากย้ำ”
ตัวอย่างของมือชี้ปากย้ำปัจจุบันมีให้เห็นมากขึ้นโดยเฉพาะโรงงานญี่ปุ่นจะสังเกตุได้ว่าเมื่อเราเข้าไปในบริษัทญี่ปุ่นจะเห็นจุดที่ต้องหยุดแล้วชี้นิ้วเช่นจุดที่เป็นมุมอับจุดที่มีการจราจรจะมีสัญลักษณ์ให้เห็นชัดเจนเช่น
เห็นสัญลักษณ์นี้ ให้หยุด แล้วชี้นิ้ว โดยต้องหันไปมองทางที่ชี้ พร้อมพูดว่า “ขวาโอเค ซ้ายโอเค หน้าโอเค” แล้วจึงเดินไป เพื่อเป็นการเช็คความปลอดภัย
หากเราฝึกทำ KY เป็นประจำ สิ่งที่เราจะได้รับ คือ
- รู้จักอันตราย
- คาดการณ์อันตรายล่วงหน้า
- มีความระวังมากขึ้น
การทำ KY เป็นวิธีที่จะทำให้อุบัติเหตุเป็นศูนย์ได้ แต่ทุกคนต้องร่วมใจและปฏิบัติอย่างจริงจัง
ซึ่ง KYT นั้นมีหลายรูปแบบ หากอยากรู้รายละเอียดเพิ่มเติม สามารถหาหลักสูตรฝึกอบรมได้ ปัจจุบันมีหลายสถานบัน เปิดสอน KYT แล้ว
บทความที่น่าสนใจ