การเดินสำรวจความปลอดภัย เพื่อให้ได้ประสิทธิภาพ คปอ.ควรทำอย่างไร ปัจจุบันในหลายสถานประกอบกิจการให้ความสำคัญในเรื่องของความปลอดภัยเพิ่มมากขึ้น ซึ่งงานด้านความปลอดภัยไม่เพียงแต่แก้ไขการเกิดอุบัติเหตุ
แต่ยังต้องป้องกันก่อนเกิดเหตุด้วย จึงจำเป็นต้องมีกิจกรรมในการดำเนินการเพื่อป้องกันก่อนเกิดอุบัติเหตุ และกิจกรรมที่ดีกิจกรรมหนึ่ง ก็คือ การเดินสำรวจความปลอดภัย หรือ Safety Patrol นั้นเอง
เดินสำรวจความปลอดภัยคืออะไร
การเดินสำรวจความปลอดภัย หรือที่เราเรียกกันว่า Safety Patrol เป็นกิจกรรมการเดินตรวจสอบความปลอดภัยในการทำงาน เพื่อตรวจหาจุดที่เป็นอันตราย อาจส่งผลให้เกิดอุบัติเหตุกับผู้ปฏิบัติงานได้ ซึ่งในการเดินสำรวจความปลอดภัยนั้น ไม่มีรูปแบบที่แน่นอน อยู่ที่ความเหมาะสมของสถานประกอบกิจการแต่ที่แห่ง ว่าจะดำเนินการในลักษณะใด ความถี่เท่าไหร่ สามารถปรับเปลี่ยนได้ตามความเหมาะสมของสถานที่นั้นๆ
ขั้นตอนการเดินสำรวจความปลอดภัย
ในการดำเนินกิจกรรมสำรวจความปลอดภัย มีวิธีการที่สามารถดำเนินการได้หลายรูปแบบ ตามความเหมาะสมของสถานที่ที่เราจะทำการเดินสำรวจความปลอดภัย ซึ่งในที่นี้ จะขอยกตัวอย่างขั้นตอนการเดินสำรวจความปลอดภัย ดังนี้
-
กำหนดพื้นที่ในการเดินสำรวจความปลอดภัย
การกำหนดพื้นที่ในการเดินสำรวจความปลอดภัย เป็นขั้นตอนเริ่มต้นในการทำกิจกรรม ซึ่งในการกำหนดพื้นที่ในการทำกิจกรรมนั้น ขึ้นอยู่กับขนาดของพื้นที่ของสถานประกอบกิจการนั้นๆ ว่าจะแบ่งพื้นที่อย่างไร ซึ่งหากเป็นสถานประกอบกิจการที่มีขนาดเล็ก สามารถเดินสำรวจความปลอดภัยได้ทั่วทั้งโรงงาน ภายในครั้งเดียว ก็สามารถกำหนดให้เดินสำรวจทั้งหมดก็ได้ แต่หากสถานประกอบกิจการมีพื้นที่ใหญ่ มีจำนวนไลน์การผลิตจำนวนมาก ก็อาจกำหนดเป็นพื้นที่ เช่น ครั้งที่ 1 ไลน์ A ครั้งที่ 2 ไลน์ B ครั้งที่ 3 ไลน์ C ไล่ต่อเนื่องไปจนครบทุกพื้นที่ของสถานประกอบกิจการ ซึ่งหากเป็นรูปแบบหลัง ควรจัดทำแผนผังในการเดินสำรวจความปลอดภัยในแต่ละครั้ง เพื่อให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรม ทราบถึงพื้นที่ที่จะดำเนินกิจกรรมในครั้งนั้นด้วย
-
กำหนดความถี่ในการเดินตรวจความปลอดภัย
การกำหนดความถี่ในการเดินสำรวจความปลอดภัย เป็นสิ่งที่สำคัญเช่นกัน เพราะหากความถี่มีช่วงเวลา ที่ยาวเกินไป อาจทำให้การดำเนินกิจกรรมไม่ต่อเนื่อง ทำให้ขาดช่วงในการแก้ไขปรับปรุงได้ ซึ่งการกำหนดความถี่ในการทำกิจกรรม ต้องดูพื้นที่ที่เรากำหนดให้สอดคล้องกันด้วย เพราะหากพื้นที่ในการทำกิจกรรม มีหลายพื้นที่ สถานประกอบกิจการมีขนาดใหญ่ ทำให้ต้องแบ่งพื้นที่เป็นหลายส่วน หากเรากำหนดความถี่ห่างเกินไป อาจจะทำให้มีพื้นที่ที่ไม่ถูกสำรวจความปลอดภัย
ยกตัวอย่างเช่น
หากสถานประกอบกิจการมีไลน์ผลิตทั้งหมด 12 ไลน์ โดยกำหนดให้ดำเนินกิจกรรมเดินสำรวจความปลอดภัย 1ครั้ง/เดือน ภายใน 1 ปี จะดำเนินกิจกรรมในแต่ละพื้นที่ได้เพียง 1 ครั้งเท่านั้น แต่หากเรากำหนดว่า 2 สัปดาห์/ครั้ง ก็จะทำให้ทุกพื้นที่ได้รับการสำรวจความปลอดภัย พื้นที่ละ 2 ครั้ง ใน 1 ปี หรือหากกำหนดว่า 1 ครั้ง/สัปดาห์ ก็จะทำให้ความถี่ในการถูกตรวจติดตามเพิ่มมากขึ้น
ซึ่งความถี่ในการเดินสำรวจความปลอดภัยนั้น ขึ้นอยู่กับความเหมาะสมของสถานประกอบกิจการแต่ละแห่ง ไม่มีรูปแบบที่แน่นอน เว้นแต่ว่า ในบางสถานประกอบกิจการ อาจถูกบังคับด้วยข้อกำหนดของลูกค้า
-
กำหนดสมาชิกในการเดินตรวจความปลอดภัย
การกำหนดสมาชิกในการเดินสำรวจความปลอดภัย สามารถทำได้หลายรูปแบบ แต่สมาชิกหลักที่ต้องอยู่ในทีม คือ คณะกรรมการความปลอดภัย หรือที่เราเรียกว่า คปอ. นั่นเอง ซึ่งในการกำหนดสมาชิก หากมีจำนวนสมาชิกที่มากพอ อาจกำหนดแยกเป็นทีม เช่น ทีม 1 ประกอบด้วยใครบ้าง ทีม 2 ประกอบด้วยใครบ้าง โดยสมาชิกที่อยู่ในทีมไม่ควรสำรวจความปลอดภัยในพื้นที่ของตนเอง เพราะจะทำให้บ่ายเบี่ยงข้อมูล เพื่อจะได้ไม่ต้องปรับปรุงแก้ไข หรือหากสถานประกอบกิจการมีขนาดเล็ก จำนวนสมาชิกน้อย ก็อาจกำหนดให้เดินสำรวจความปลอดภัยพร้อมกันทั้งหมดก็สามารถทำได้ อยู่ที่ความเหมาะสมของสถานประกอบกิจการนั้นๆ
-
จัดเตรียมเครื่องมือสำหรับเดินตรวจความปลอดภัย
ในการเดินสำรวจความปลอดภัย ต้องมีเครื่องมือ อุปกรณ์ ในการดำเนินกิจกกรรม เพื่อให้กิจกรรมดำเนิน ไปอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งเครื่องมือและอุปกรณ์ที่นิยมใช้ ในการเดินสำรวจความปลอดภัย เช่น
- Check sheet ซึ่งมาจากข้อกำหนดของกฎหมายเป็นหลัก และเพิ่มเติมส่วนที่เกี่ยงของกับพื้นที่ที่ถูกสำรวจความปลอดภัยเข้าไปด้วย
- กล้องถ่ายรูป ถือว่าเป็นสิ่งที่จำเป็นในการเดินสำรวจความปลอดภัย เพราะหากพบจุดที่ไม่ปลอดภัย สามารถถ่ายรูปไว้เป็นหลักฐาน และเปรียบเทียบกับหลังการแก้ไข
- อุปกรณ์สำหรับการแก้ไขชั่วคราว หรือป้ายเตือน หากในระหว่างเดินสำรวจความปลอดภัย พบจุดที่อาจจะก่อให้เกิดอันตราย สามารถใช้อุปกรณ์หรือป้ายเตือนที่เตรียมไปด้วย ในการชี้บ่งได้ทันที เช่น หากพบจุดที่การ์ดของเครื่องจักรชำรุด ให้ใช้ป้ายเตือนติดไว้ ว่า ระวังอันตราย การดชำรุด เป็นต้น
-
ดำเนินการเดินสำรวจความปลอดภัย
เมื่อกำหนดพื้นที่ ความถี่ สมาชิกและเครื่องมือ ในการเดินสำรวจความปลอดภัยเรียบร้อยแล้ว อาจจัดทำเป็นแผนงาน เพื่อแจ้งให้ผู้เกี่ยวข้องทุกส่วนได้ทราบ และดำเนินกิจกรรมตามแผน ซึ่งในระหว่างการเดินสำรวจความปลอดภัย หากพบเห็นจุดที่ไม่ปลอดภัย ให้ถ่ายรูปเก็บไว้ เพื่อนำไปสรุปผลการดำเนินกิจกรรมในครั้งนั้น ว่าสมาชิกพบปัญหาอะไรบาง เพื่อส่งให้ผู้รับผิดชอบดำเนินการแก้ไข
-
สรุปผล
การสรุปผล ควรทำทันทีหลังจากการเดินสำรวจความปลอดภัยเสร็จสิ้น เพื่อให้อันตรายที่ถูกตรวจพบ ได้รับการแก้ไข ซึ่งในการสรุปผล ต้องกำหนดให้ชัดเจนว่า ใครเป็นผู้รับผิดชอบ และจะแล้วเสร็จเมื่อไหร่ หากปัญหาที่พบนั้น ไม่สามารถแก้ไขได้ทันที ต้องมีมาตรการการแก้ไขแบบชั่วคราว เพื่อป้องกันอันตรายที่อาจเกิดขึ้นได้
การติดตามผลการเดินสำรวจความปลอดภัย
นอกจากการดำเนินกิจกรรมแล้ว ขั้นตอนการติดตามผลก็สำคัญเช่นกัน เพราะหากไม่มีการติดตามผลการ แก้ไขการทำกิจกรรมก็ไม่เกิดประโยชน์ ซึ่งในการติดตามผลการแก้ไขนั้น สามารถทำได้หลายวิธีเช่น จากการเดินสำรวจรายวันโดยเจ้าหน้าที่ความปลอดภัย หัวหน้างาน ซึ่งหากพบว่าปัญหานั้นยังไม่ได้รับการแก้ไข ก็สามารถติดตามผู้รับผิดชอบได้โดยตรง และหากเมื่อครบกำหนดแล้ว ยังไม่แก้ไข ให้ติดตามผลในการประชุมความปลอดภัยประจำเดือน เพื่อให้ผู้รับผิดชอบชี้แจงและดำเนินการแก้ไขต่อไป
สรุป
กิจกรรมการเดินสำรวจความปลอดภัยจะมีประสิทธิภาพต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกส่วนงาน คณะกรรมการความปลอดภัยทุกคนจะต้องผ่านการ อบรม คปอ ตามกฎหมาย และต้องได้รับการร่วมมือจากผู้บริหาร ซึ่งในบางสถานประกอบกิจการจะกำหนดไว้ว่าผู้บริหารจะต้องเข้าร่วมอย่างน้อย 1 ครั้ง/เดือน เพื่อให้กิจกรรมถูกขับเคลื่อนอย่างมีประสิทธิภาพ และในส่วนของรูปแบบการดำเนินกิจกรรมนั้นสามารถปรับเปลี่ยนได้ตามความเหมาะสมโดยไม่มีรูปแบบที่ตายตัวนั้นเอง